อันดับแรก ขอให้ท่านที่จะเจริญสมาธิแต่งกายให้เรียบร้อยตามที่พึงจะมี ใช้เครื่องแต่งกายธรรมดาที่มีอยู่แล้ว แต่จัดให้เรียบร้อยเท่านั้นเอง
เครื่องบูชา:-
เครื่องบูชาพระ ใช้ดอกไม้ ธูป เทียน ตามที่จะพึงหาได้ ถ้าบังเอิญอย่างใดอย่างหนึ่งหาไม่ได้ก็ไม่ต้องวิตกกังวล ให้บูชาตามที่ของมีอยู่ แต่ถ้าในสถานที่บางแห่งหรือท่านที่อยู่เอง จะหาอะไรก็ไม่ได้ แม้แต่ธูปก็บังเอิญไม่มีก็ไม่เป็นไร ใช้มือกับใจบูชาด้วยความเคารพจริงก็ใช้ได้
บูชาพระ:-
เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วทำใจเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ให้แน่นอน แล้วกล่าววาจานมัสการพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ ดังนี้ (การกล่าวนี้ถ้าออกเสียงเบา ๆ พอได้ยินจะดีมาก แต่ถ้าไม่มีแรงก็ใช้นึกในใจก็ใช้ได้มีผลเสมอกัน) นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ กล่าวอย่างนี้ ๓ หนแล้ว แปลเป็นไทยดังนี้ (ควรแปลเพื่อความมั่นใจและรู้เรื่องที่เรากล่าว) ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมนมัสการ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์พระองค์นั้นตลอดชีวิต
- พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าฯ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
- ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าฯ ขอถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
- สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าฯ ขอถึงพระอริยสงฆ์สาวก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต
- เราจะไม่ฆ่าและทรมานคนและสัตว์ให้ตาย หรือให้ได้รับความเดือดร้อน ตลอดชีวิต
- เราจะไม่ลักขโมย คดโกง หลอกลวง เป็นต้น ในทรัพย์สินของคนอื่นเอามาเป็นของเรา ตลอดชีวิต
- เราจะไม่ทำชู้ ลูกเมีย สามี ภรรยา และคนในปกครองของผู้อื่น โดยที่ผู้ปกครองและเจ้าของไม่อนุญาต ตลอดชีวิต
- เราจะไม่พูดปด คือวาจาไม่ตรงความจริง ไม่พูดวาจาหยาบให้เป็นที่สะเทือนใจของผู้รับฟัง ไม่ยุหรือนินทาคนอื่นให้เป็นเครื่องบาดหมางหรือแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์ตลอดชีวิต
- เราจะไม่ดื่มสุราและเมรัย ตลอดชีวิต
- เราจะไม่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น เอามาเป็นของตน โดยที่ท่านเจ้าของไม่ได้ให้ด้วยความเต็มใจ ตลอดชีวิต
- เราจะไม่จองเวรจองกรรม จองล้างจองผลาญคิดพยาบาทเพื่อพิฆาตแก้แค้นในบุคคลที่ทำให้ไม่พอใจ แต่ถ้าไม่หนักเกินไปเราจะให้อภัยแก่ผู้นั้น ตลอดชีวิต
- เราจะไม่ฝ่าฝืนพระธรรมวินัย มีศีล เป็นต้น ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้นด้วยความเคารพตลอดชีวิต
ให้ท่านตั้งใจกล่าว นะโม ฯลฯ ๓ จบ แล้วกล่าวดังนี้ (อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจชามิ) แปลว่า ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า ขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อสมาทานแล้ว กราบ ๓ ครั้ง ด้วยความเคารพ ต่อไปก็เริ่มทำสมาธิ การนั่ง ท่านจะนั่งขัดสมาธิ หรือพับเพียบก็ได้ ถ้าเป็นที่บ้านของท่านไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย จะนั่งเก้าอี้ห้อยขาลงหรือนั่งท่าไหนก็ได้ตามแต่ร่างกายจะสบาย จะยืน จะเดิน นอนก็ได้ไม่ห้าม ทำ เท่าที่ร่างกายสบายอย่าฝืนให้ร่างกายต้องถูกทรมาน จิตจะไม่เป็นสมาธิ
บทภาวนา:-
คำภาวนานี้ - ในที่นี้ขอแนะนำให้ภาวนาว่า "พุทโธ" เพราะสั้นและง่ายมีอานิสงส์มากหายใจเข้านึกตามว่า พุท หายใจออกนึกตามว่า โธ ใจนึกถึงพระพุทธรูปที่วัดไหนหรือพระที่บ้านก็ได้ หรือว่าชอบใจพระสงฆ์องค์ใด นึกถึงพระสงฆ์นั้นก็ได้ ตามแต่ใจจะต้องการและจำภาพง่าย ถ้าพระพุทธรูปอยู่ใกล้ให้ลืมตาดูพระพุทธรูป พอจำได้ดีแล้วหลับตานึกถึงพระพุทธรูป ถ้าภาพนั้นเลือนไปจากใจให้ลืมตาดูใหม่ แล้วหลับตานึกถึงภาพพระ ทำอย่างนี้สลับกันไป ในไม่ช้าจิตจะทรงสมาธิได้ดีไม่ต้องมองภาพพระ จิตสามารถนึกถึงภาพพระได้ ตลอดเวลาที่ต้องการ อย่างนี้ท่านเรียกว่า จิตเป็นฌาน อารมณ์เข้าถึงขั้นที่ต้องการ
ความต้องการของการเจริญพระกรรมฐาน:-
การเจริญพระกรรมฐาน ไม่ใช่ว่าจะต้องการทำใจให้สบายเฉพาะเวลาที่นั่งสมาธิเท่านั้น การนั่งสมาธิได้ดีขนาดไหนก็ตาม แต่เมื่อเลิกนั่งแล้วใจไม่ทรงการปฏิบัติในกฎ ๘ประการ ตามที่กล่าวมาแล้วได้ คือยังเผลอลืม ยังละเมิดเป็นบางวาระ ถือว่ายังเอาดีจริง ๆไม่ได้ เพราะยังเป็นทางเดินลงนรก แต่ละข้อถ้าละเมิดมีโอกาสลงนรกได้ จึงจำต้องเอาสมาธิใช้ในที่นั้นด้วย คำว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่น เวลานั่งฝึก เป็นการฝึกอารมณ์ให้
ทรงตัวเพื่อเอามาใช้ตามนี้ เมื่อเลิกนั่งแล้วมีใจ เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์เป็นปกติ ใจต้องระวังไม่ให้สิกขาบท ๘ ประการ ขาดตกบกพร่อง ทรงอยู่ด้วยดีตลอดเวลาเรียกว่า มีสมาธิครบถ้วน ถ้าปฏิบัติได้ครบถ้วนตามนี้และทรงได้ไม่ขาดตลอดกาล บาปที่ทำแล้วทั้งหมดไม่ให้ผลต่อไปเลิกไปอบายภูมิจนกว่าจะเข้านิพพาน
ความต้องการของใจ:-
ความต้องการของใจ คือความปารถนาให้มีใจต้องการที่ไปจุดเดียว คือ นิพพานเมื่อใจต้องการนิพพานจริงจัง จิตจะเริ่มสงบไม่ทุรนทุรายมาก จิตจะค่อยๆ บรรเทาความรักในระหว่างเพศ ความโลภ ความโกรธ ความหลงจะค่อยๆ สลายตัวไป จนถึงไม่เหลืออะไรไว้เลย จะมีแต่อารมณ์สบายใจเป็นสุข วางเฉยต่ออารมณ์ที่ทำให้ขัดใจและเฉยไม่สนใจต่อสิ่งที่ทำให้ชอบใจมีอารมณ์ปกติที่เรียกว่า " สังขารุเปกขาญาณ " เมื่อมาถึงตอนนี้มีหวังไปนิพพานแน่นอน
ก่อนทำอะไรทั้งหมดให้นึกถึงความตายไว้ก่อน:-
การนึกถึงความตายไว้เป็นปกติ ผลที่จะได้รับก็คือกิเลสทั้งหลายสลายตัวเร็วความต้องการผลในการเจริญกรรมฐานจะมีรวดเร็วมาก ฉะนั้นขอท่านนักปฏิบัติจงอย่าลืมคิดว่า เราจะตายไว้ และตั้งใจทำความดีตามพระสูตร ท่านจะมีผลตามนั้นแน่นอน
.